วิธีการสอนตามแนวทาง ซูซูกิ (Suzuki Method)
เรียงเรียงโดย ประพันธ์ศักดิ์ พุ่มอินทร์
บทความนี้ได้ถูกใช้ในการอบรมผู้ปกครองนักเรียนไวโอลินของโครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป มหาวิทยาลัยมหิดล โดยผู้เขียนเอง และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาดนตรีในทุกเครื่องมือดนตรี จึงนำมาเสนอให้ทุกท่านได้อ่านและช่วยเผยแพร่
ชินนิชิ ซูซูกิ (Shinichi Suzuki , 1899 –1999) ท่านเป็นนักไวโอลิน นักดนตรีศึกษา นักจิตวิทยา และผู้ทรงคุณธรรม ซึ่งได้อุทิศเวลาทั้งชีวิตในการพัฒนาทฤษฎีการสอน โดยเขาเรียกว่า การศึกษาแบบพรสวรรค์ เป็นเวลามากกว่า 50 ปีมาแล้วที่ซูซูกิได้ค้นพบความจริงที่ว่า เด็กเล็กทั้งโลกไม่ว่าชาติใดสามารถเรียนรู้ภาษาประจำชาติตนเองได้อย่างง่ายมาก ท่านจึงใช้แนวคิดนี้ในการสอนดนตรีสำหรับเด็กขึ้น และเรียกแนวคิดนี้ว่า วิธีการสอนแบบภาษาแม่ (mother-tongue approach) แนวคิดหลักของการสอนแบบนี้คือ การสอนแบบเป็นธรรมชาติแบบพ่อแม่สอนลูก การให้กำลังใจด้วยความรัก การปฏิบัติดนตรีซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อย่างมีวินัย ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่เห็นอย่างเด่นชัดของวิธีการสอนแบบซูซูกิ
ลักษณะการสอนดนตรีของซูซูกิ มีข้อควรพิจารณาดังนี้
- ครูของซูซูกิต้องมีความเชื่อว่า ความสามารถทางดนตรีทุกด้าน สามารถพัฒนาได้ในเด็กทุกคน
- การสอนดนตรีที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากช่วงปฐมวัย
- พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องมีส่วนร่วมในการเรียนดนตรีของเด็กด้วย
- เด็กต้องเล่นเครื่องดนตรีได้ด้วยความรู้สึกว่าเล่นง่าย ก่อนการเรียนโน้ตดนตรีและการอ่านต่าง ๆ
- เทคนิคต่าง ๆ ของการเล่นดนตรีได้ถูกบรรจุในบทเพลง อย่างเป็นขั้นตอน
- บทเพลงต่าง ๆ ที่เด็กได้เรียนไปแล้ว ต้องได้รับการขัดเกลาและทบทวนอยู่เสมออย่างเคร่งครัด
- เด็กควรได้แสดงออกบ่อย ๆ ทั้งการแสดงเดี่ยวและเป็นกลุ่ม
ควรซ้อมดนตรีอย่างไร
ดร.ซูซูกิ กล่าวว่า นักเรียนดนตรีควรใช้เวลาในการซ้อมดนตรีทั้งหมดเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกในการซ้อมคุณภาพเสียง (tonalization) ส่วนที่สองสำหรับการซ้อมเพื่อทบทวน ส่วนที่สามเป็นการซ้อมสำหรับเพลงใหม่ ดังนั้นถ้าเด็กใช้เวลาครึ่งชั่วโมงในการซ้อมแต่ละวัน ก็ควรจะแบ่งเวลา 10 นาทีสำหรับการฝึกซ้อมคุณภาพเสียง อีก 10 นาทีสำหรับการซ้อมทบทวน และ 10 นาทีสุดท้าย สำหรับการซ้อมส่วนอื่น ๆ เช่น เพลงใหม่ การอ่านโน้ต การเตรียมเพลงที่จะฝึกในอนาคต ฯลฯ
การฝึกเพลงที่เรียนแล้วซ้ำ ๆ จำเป็นหรือ ?
อาจมีคำถามมากมายในใจของผู้ปกครองเกี่ยวกับการเรียนดนตรีของเด็ก เช่น ต้องใช้เวลานานมากเท่าใดในการเรียนตำราแต่ละเล่ม ? ทำไมต้องทบทวนเพลงเก่า ๆ ซ้ำซาก ? ตามที่ครูผู้สอนบอกว่าเด็กควรเล่นให้มีคุณภาพเสียงที่ดีเป็นเช่นไร ? และเด็กควรซ้อมอะไรที่บ้าน ? ฯลฯ
การฝึกคุณภาพเสียง (Tonalilazion) เป็นแบบฝึกเพื่อการพัฒนาคุณภาพเสียงที่ไพเราะ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำให้เพลงเพราะด้วย ดร. ซูซูกิ ได้ให้ทัศนะไว้ว่า นักร้องที่ดีต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการฝึกฝนการเปล่งเสียงร้อง (vocalizations) เพื่อที่จะพัฒนาให้เสียงที่ร้องมีความไพเราะทุกตัวโน้ต
ถ้าเรารู้ว่านักไวโอลินที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกมีเสียงเพลงที่ไพเราะเช่นไร แล้วเหตุใดเราจึงไม่พยายามทำสิ่งเดียวกันในการฝึกฝนไวโอลินเล่า ? ดังนั้น ดร. ซูซูกิ จึงเขียนแบบฝึกหัดและเรียกว่า tonalization มีอยู่บ่อยครั้งที่เขียนให้นักเรียนเล่นบนสายเปล่าธรรมดา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยในการฝึกหัด เพราะการฝึกนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของเสียงที่มีคุณภาพและความไพเราะ ครูผู้สอนก็ต้องเน้นให้นักเรียนพัฒนาคุณภาพเสียงขึ้นในการเรียนทุกครั้ง
ดังที่ภาษิตของจีนบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า ปรมาจารย์ที่ยอดเยี่ยมจะสอนความรู้เพียงด้านเดียว แต่ลูกศิษย์เอกต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด สิ่งเดียวที่ ดร. ซูซูกิ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสอน คือ คุณภาพเสียง และถือเป็นเป้าหมายแรกของการเรียนดนตรี นักเรียนควรรู้สึกว่าการเรียนดนตรีเป็นประสบการณ์ที่ดี นักเรียนต้องรู้จักวิธีการสร้างเสียงที่ไพเราะและสามารถสร้างเสียงนั้นจากจิตใจที่งดงาม นี่เป็นรากฐานที่สำคัญของการสร้างเสียงดนตรีที่แท้จริง
คุณอาจเพียงเล่นเพลงง่าย ๆ ธรรมดา ก็สามารถทำให้ผู้ฟังดนตรีนั้นร้องให้ได้ ด้วยเหตุที่เพลงนั้นมีความไพเราะอย่างยิ่ง ด้วยน้ำเสียงของเครื่องดนตรีที่บาดลึกถึงจิตวิญญาณ
วิธีการสอนนี้ใช้ได้กับการสอนทุกเครื่องดนตรี ไม่ว่าเป็นไวโอลิน หรือ เชลโล่ ตั้งแต่การสอนตำราเล่มที่ 1 ตัวอย่างเช่น เพลง Twinkle , Twinkle , Little Star ล้วนเป็นแบบฝึกหัดเพื่อ tonalization ทั้งสิ้น ซึ่งครูต้องแบ่งเวลา 1 ใน 3 ในการเรียนสำหรับทบทวนเพลงนี้ มิใช่เล่นเป็นเสียงเพลงเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงท่าทางในการเล่น ความมีสมาธิในการลากสายให้เป็นเส้นตรงใกล้กับหย่อง (bridge) การจับคันชักไวโอลินที่ถูกต้อง ตำแหน่งการยืนและท่วงท่าต่าง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง และข้อสำคัญที่สุด คือต้องสอนให้เด็กฟังเสียงที่ตนเองเล่นไม่ให้มีความเพี้ยน นักเรียนส่วนมากมักละเลยถึงคุณภาพเสียงที่เล่นออกมาซึ่งเป็นผลมาจากความยาวของการลากคันชัก การใช้แรงในการสี ครูต้องพยายามให้เสียงทุกเสียงที่เด็กเล่นมีความไพเราะ มีพลัง และสวยงาม
คุณรู้หรือไม่ว่าทำไม ดร. ซูซูกิ ถึงได้เน้นเรื่องการทบทวนเพลงฝึกหัดที่เรียนไปแล้ว เป็นเพราะเหตุผลเช่นเดียวกับการเรียนภาษาแม่ในเด็กนั่นเอง ภายหลังจากที่เด็กได้เรียนคำว่า “แม่” “มามี้” ฯลฯ เขาจะเก็บคำพูดนั้นไว้ในความทรงจำ และเมื่อพ่อแม่พยายามสอนคำศัพท์ใหม่เพิ่ม เขาก็จะทบทวนคำเดิม ๆ ไปด้วย การสอนนี้เป็นไปอย่างธรรมชาติ ทุก ๆ วัน เป็นเดือน เป็นปี เด็กก็จะสามารถพัฒนาการพูดเป็นประโยค โดยรวมคำศัพท์เก่าและใหม่เข้าด้วยกันอย่างชำนาญ
ในการสอนดนตรี ครูทั่วไปมักจะพูดบ่อย ๆ ว่า “คุณเรียนเพลงนี้แล้ว ตอนนี้เรามาขึ้นเพลงใหม่ดีกว่า” แต่ในความแตกต่างของการสอนแบบซูซูกินี้ การเรียนทุกครั้งจะต้องย้อนกลับไปทบทวนเพลงที่เรียนมาแล้วเสมอ ดังนั้น เด็กก็จะพัฒนาคุณภาพของการเล่น เสียงตรงไม่เพี้ยน และมีความไพเราะขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมไปกับท่าทางการสีที่ดีขึ้น การใช้คันชักและการวางนิ้วที่มีความฉับไว และการแสดงออกทางความรู้สึกทางดนตรีที่เพิ่มพูนขึ้น
นักจิตวิทยาได้บอกพวกเราว่า เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งในการทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ถ้าคุณต้องการซ้อมเพลงใหม่ คุณจะต้องใช้สมาธิในการอ่านโน้ตแต่ละตัวอย่างถูกต้อง ดังนั้นคุณจึงไม่สามารถคิดเกี่ยวกับความสำคัญของสิ่งอื่น ๆ ไปพร้อมกับการเล่น คือ ความเที่ยงตรงของตัวโน้ต ท่าทางที่ดูสวยงาม ความรู้สึกและอารมณ์เพลง แต่ถ้าคุณเล่นเพลงที่ง่าย ๆ ที่คุณคุ้นเคยดีแล้ว คุณสามารถบังคับควบคุมทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นการถือคันชักที่สวยงาม ท่าทางการเล่น การบังคับเสียงโน้ตแต่ละตัวให้ออกมาอย่างดี หรือในเปียโนก็สามารถบังคับข้อมือและนิ้วมือให้โค้งอย่างงดงาม นี่เองเป็นเหตุผลที่เราต้องทบทวนเพลงทุกเพลงในการเรียนดนตรีแบบซูซูกิ
อ้างอิงจาก (1) Shinichi Suzuki.(1983). Nurtured by Love “The Classic Approach to Talent Education” . Suzuki Method International , Miami U.S.A.
(2) http:/www.azsuzuki.org. What is the Suzuki Method ?. Arizona Suzuki Associaiton