ดนตรี เป็นเรื่องของทักษะ ทักษะเป็นเรื่องของการฝึก " Practice makes perfect " แปลได้ว่า " อัจฉริยะได้มาจากการฝึก "
มรว.ถนัดศรี สวัสิดวัฒน์ ท่านเคยพูดไว้ว่า " ไม่เก่ง แต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ "
การสร้างความพร้อมให้กับลูกที่จะเรียนดนตรี ลูกจะต้องมีเครื่องดนตรี มีครูสอนดนตรี มีหนังสือ และห้องฝึกซ้อม เมื่อลูกมีความพร้อมทางกายภาพแล้ว ก็ต้องสร้างความพร้อมภายใน ให้ลูกอยากเรียน อยากฝึกซ้อมดนตรี
เมื่อลูกยังอายุน้อย จะต้องสร้างบรรยากาศการฝึกซ้อมดนตรี อย่างสม่ำเสมอ สร้างลูกให้เห็นความสำคัญของการฝึกซ้อมดนตรี เมื่อซ้อมแล้ว ให้สังเกตว่า เกิดอะไรขึ้น ฝึกซ้อม 1 ชั่วโมงทุกวัน เกิดอะไรขึ้น ฝึกซ้อม 2 ชั่วโมงทุกวัน เกิดอะไรขึ้น ฝึกซ้อม 3 ชั่วโมงทุกวันเกิดอะไรขึ้น ถ้าฝึกซ้อม 5 ชั่วโมงทุกวันจะเกิดอะไรขึ้น
ความชำนาญที่เป็นผลจากการฝึกซ้อม จะเป็นคำตอบของการเรียนดนตรี การฝึกซ้อมมาดี เมื่อขึ้นเวที ก็จะได้รับการปรบมือ เมื่อเรียนกับครู ก็จะได้รับคำชม หรือบังเอิญมีใครมาได้ยิน ก็จะได้รับคำกล่าวขวัญถึง สิ่งเหล่านี้ เป็นตัวกระตุ้นส่งเสริม ให่เด็กอยากเรียนดนตรี
การที่เด็กได้ชมการเล่นดนตรีของนักร้อง นักดนตรีที่เด็กชื่นชอบ ก็เป็นการสร้างบรรยากาศในการเรียนดนตรีที่ดีมากอีกอย่างหนึ่ง เพราะเป็นตัวอย่างที่เด็กปรารถนา เป็นความใฝ่ฝันที่เด็กอยากเป็น อยากเลียนแบบ เมื่อเด็กได้เห็นนักดนตรีเก่ง ๆ แสดงสด จะทำให้มีพลังที่อยากจะเรียน อยากจะเป็นนักดนตรีอย่างไม่น่าเชื่อ
รวมทั้งการที่เด็ก ได้ออกแสดงดนตรีในที่สาธารณะ ได้แต่งตัว ใส่ชุดแสดงที่แตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ก็สร้างความภูมิใจให้เด็ก ตอกย้ำความอยากเรียนดนตรี ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเด็กทุกคน อยากเด่น อยากแตกต่าง อยากเท่ห์ อยากได้รับคำชื่นชม แต่คำชื่นชมต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นจริง